ACE ขานรับนโยบายภาครัฐร่วมลด PM 2.5 ชูแนวทาง "ลดเผา รายได้เพิ่ม" เปิดรับซื้อวัสดุทางการเกษตรกว่า 50 ชนิด รวมกว่า 1.7 ล้านตัน

ACE ขานรับบอร์ดสิ่งแวดล้อม ลด PM 2.5 ชูแนวทาง “ลดเผา รายได้เพิ่ม” ประสานผู้นำชุมชน-หน่วยงานรัฐ-เกษตรกร รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกว่า 50 ชนิดรอบโรงไฟฟ้าชีวมวล 12 แห่งทั่วประเทศราคายุติธรรม ปี 63 และ 64 ตั้งเป้าซื้อเข้าสต็อกต่อปีไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านตัน ช่วยลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้มากกว่า 434 ล้านกิโลกรัม พร้อมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรแล้วตลอด 9 ปี มากกว่า 5,000 ล้านบาท

นางสาวจิรฐา ทรงเมตตา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ผู้นำด้านพลังงานสะอาด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ลุกลามรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 มีมติเห็นชอบให้จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM 2.5 โดยเร่งด่วน

ACE ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ของประเทศ และทำต่อเนื่องมาหลายปีบนหลักการ ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล โดยดำเนินการภายใต้แนวทาง “ลดเผา รายได้เพิ่ม” เปิดรับซื้อวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรที่หลากหลายกว่า 50 ชนิด อาทิ ฟางข้าว แกลบ ใบอ้อย ต้นข้าวโพด ซังข้าวโพด ฯลฯ เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทฯ รวม 12 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

ในปี 2563 และ 2564 ตั้งเป้าหมายรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านตัน โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง ซึ่งมักเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 บริษัทฯ จะรับซื้อในปริมาณมากขึ้น 40-50% ของปริมาณรับซื้อปกติ ทั้งนี้แม้จะเกินปริมาณการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าในเดือนนั้นก็ตาม แต่มีวัตถุประสงค์จะดำเนินการ เพื่อลดฝุ่นละออง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งที่ผ่านมาในแต่ละปีสามารถช่วยลดได้มากกว่า 434 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“ช่วงหน้าแล้งเราซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเกินกว่าที่ใช้จริง และนำมาเก็บสต็อกไว้ เพราะต้องการลดการเผาในไร่นา ไร่อ้อย และไร่ข้าวโพด เพื่อช่วยลดฝุ่นละออง PM 2.5 โดยประสานผู้นำชุมชน หน่วยงานรัฐ และเกษตรกรโดยตรง เชิญชวนนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาขายให้ ACE ซึ่งรับซื้อในราคายุติธรรมและรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเกือบทุกชนิดที่มีในประเทศไทย สาเหตุที่ ACE สามารถใช้เชื้อเพลิงได้หลากหลาย เพราะบริษัทฯ มีเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลที่ทันสมัย และบุคลากรที่มีประสบการณ์ มีความรู้จริงเกี่ยวกับการเดินโรงไฟฟ้าชีวมวลมากว่า 30 ปี ACE ยินดีรับซื้อใบอ้อย ฟางข้าว ต้นข้าวโพด และซังข้าวโพด ฯลฯ จากเกษตรกรเพราะนอกจากมีส่วนร่วมลดฝุ่น PM 2.5 และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วยังสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรทั่วประเทศ”

ทั้งนี้ตลอด 9 ปีตั้งแต่ปี 2555 การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลของ ACE ได้รับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตรในปริมาณรวมแล้วมากกว่า 5 ล้านตัน มีส่วนช่วยลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่งเทียบเท่าปริมาณ PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาฟางข้าว ตอซังข้าวในนาข้าวเนื้อที่รวมกว่า 10.8 ล้านไร่/ปี

ขณะเดียวกันยังเป็นช่องทางให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ทดแทนการเผาได้ปีละมากกว่า 1,200 ล้านบาท ช่วยให้สร้างมูลค่าเพิ่มกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชน มากกว่า 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้การที่ ACE สามารถรับซื้อวัสดุได้ในปริมาณมาก และหลากหลายกว่า 50 ชนิด ครอบคลุมวัสดุทางการเกษตรเกือบทุกประเภทที่มีในประเทศไทย ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลส่วนใหญ่จะรับซื้อไม่กี่ชนิด เพราะบริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ และความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่สามารถเลือกใช้ และผสมผสานเชื้อเพลิงได้หลากหลาย จนถึงวันนี้การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทฯ ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกวัน พร้อมจะเปิดรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวลของ ACE ทั้งหมด 12 โครงการ รวมกำลังผลิต 988 ล้านหน่วยต่อปี กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ อาทิ ชลบุรี, ขอนแก่น, สุรินทร์, นครราชสีมา, ร้อยเอ็ด, บุรีรัมย์, ลำปาง, หนองคาย, อุบลราชธานี, กาญจนบุรี ซึ่งแต่ละพื้นที่ล้วนเป็นพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศ

อนึ่ง บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE คือ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานสะอาดที่ครอบคลุม ตั้งแต่โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล พลังงานขยะ ก๊าซธรรมชาติ พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงธุรกิจซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ แล้ว จำนวน 18 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 239.91 เมกะวัตต์ จากในแผน 36 โครงการ ทั้งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567