ACE เล็งรุกโรงไฟฟ้าชุมชน ชูจุดแข็งความเชี่ยวชาญ-พร้อมด้านการผลิต

นางสาวจิรฐา ทรงเมตตา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ผู้นำด้านพลังงานสะอาดของไทย เปิดเผยว่า ACE จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชน เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญและศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลรวมถึงความพร้อมหลากหลายด้านที่เอื้อต่อการขยายและดำเนินการ โดยเฉพาะเครือข่ายเกษตรกรและโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรอันหลากหลายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และศักยภาพในการใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่า 50 ชนิดมาผลิตไฟฟ้า โดยปัจจุบัน ACE มีโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) อยู่แล้ว 14 โรง แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าชีวมวล 9 โรง ครอบคลุมในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก, โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ 1 โรง, โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 1 โรง และโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อีก 3 โรง ส่งผลให้ปัจจุบัน ACE มีกำลังการผลิตรวม 212.18 MW

**เครือข่ายเกษตรกรที่เข้มแข็ง-โตต่อเนื่อง

ACE มีทีมบริหารมากประสบการณ์ที่อยู่ในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมมานานกว่า 40 ปี ทำให้มีเครือข่ายเกษตรกรที่กว้างขวางและ Supply Chain ที่เข้มแข็งพร้อมส่งเชื้อเพลิงเข้าสู่โรงไฟฟ้าในเครือตลอดทั้งปี ซึ่งนอกจากการมีฐานรากที่ดีอย่างเครือข่ายเกษตรกรแล้ว ACE ก็ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานให้กับเกษตรกรในชุมชน ซึ่งพืชที่ใช้ในการเพาะปลูกนั้น คือ ไม้ยืนต้น และ ไม้พืชไร่ สามารถปลูกได้ตามคันนาและพื้นที่ทั่วไป โดยไม้ทั้งหมดทาง ACE รับซื้อพร้อมกับประกันราคาเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับเกษตรกรอีกทาง

**นำเทคโนโลยีมาสร้างความแข็งแรง

นอกจากกระบวนการต้นน้ำอย่างการจัดหาและพัฒนาเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า ทาง ACE ยังมีการนำเทคโนโลยี IoT, Big Data และ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงกระบวนการผลิตและซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีทีม Operation & Maintenance ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูง โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลของ ACE เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลประเภท Mixed Fuel Type กล่าวคือสามารถใช้เชื้อเพลิงได้หลายประเภทพร้อม ๆ กัน และมีเทคโนโลยีห้องเผาไหม้ที่สามารถใช้เชื้อเพลิงที่มีค่าความชื้นสูงถึง 65% ศักยภาพหลัก 2 อย่างนี้ทำให้ ACE สามารถใช้เชื้อเพลิงความชื้นสูงถึง 80% ได้ โดยการนำไปผสมกับเชื้อเพลิงที่มีความชื้น 50% ทำให้ได้ค่าเฉลี่ยความชื้น 65% ด้วยเหตุนี้ ACE จึงสามารถใช้พืชหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้เกือบทุกชนิดที่มีในประเทศไทย ส่งผลให้ ACE ควบคุมต้นทุนเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

**ACE กับบทบาทผู้นำพลังงานทดแทนไทย

นางสาวจิรฐา กล่าวทิ้งท้ายว่า “โรงไฟฟ้าชุมชน ผลจากมติ กพช. ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการสร้างทั้งโอกาสและตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศในมิติของการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่ที่สำคัญกว่านั้นเป็นการสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ชุมชนและเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นการลดการเสียดุลการค้าจากการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ซึ่ง ACE มีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวงการพลังงานสะอาดของไทยให้ก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน” ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561 – 2580 หรือ PDP 2018 พลังงานทดแทนจะเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดหรือ 37% ของกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 26% และมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็น 46% ในปี 2037 ซึ่งแหล่งพลังงานทดแทนที่ใหญ่ที่สุดในการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าต่อจากนี้ คือ ชีวมวล ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) และราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ภายใต้ “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ที่ในปี 2563 จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้า 700 MW

ที่มา : thunhoon