ACE คว้า 2 โรงไฟฟ้าขยะ รวม 19.8 MW รายได้ปีละ 380 ลบ./แห่ง

HoonSmart.com>> “แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้” เผยบริษัทย่อยชนะประมูลโรงไฟฟ้าขยะ 2 แห่งในอุดรธานี และ “นครราชสีมา” กำลังผลิตรวม 19.8 เมกะวัตต์ คาดสร้างรายได้การขายไฟฟ้าเพิ่มแห่งละ 380 ล้านบาท/ปี  พร้อมเดินหน้าขยายลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอย่างต่อเนื่อง

นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) ผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสะอาดของไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงหวาง(อบต. เชียงหวาง) จ. อุดรธานี ได้ประกาศให้บริษัทย่อยโดยอ้อมที่บริษัทฯ ถือหุ้น 90% เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิดของ อบต. เชียงหวาง ที่มีขนาดรองรับปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนไม่น้อยกว่า 400 ตันต่อวัน ภายใต้ สัญญาโครงการแบบ Build-Own-Operate (BOO) มีอายุ 25 ปี โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 8.0 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 องค์การบริหารส่วนตา บลโชคชัย จ. นครราชสีมา (อบต. โชคชัย) ได้ประกาศให้บริษัทย่อยโดยอ้อมที่บริษัทฯ ถือหุ้น 90% เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนโดยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิดแบบ Waste to Energy(WTE) ของ อบต. โชคชัย ที่มีขนาดรองรับปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนไม่น้อยกว่า 466.96 ตันต่อวัน ภายใต้สัญญาโครงการแบบ BOO มีอายุ 25 ปี โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ และกำลังผลิต PPA 8.0 เมกะวัตต์

“โรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน 2 แห่งนี้จะช่วยเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าขยะชุมชนของกลุ่ม เป็น 4 แห่ง รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 31.8 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ธุรกิจที่มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดของบริษัทฯ หากได้รับสัญญา PPA ตามที่คาดไว้คือ 8 เมกะวัตต์ ในราคาแบบ FiT (5.78 บาทต่อหน่วย) คาดจะช่วยเพิ่มรายได้จากการขายไฟฟ้าได้อีกปีละประมาณ 380 ล้านบาทต่อโรงไฟฟ้า ซึ่งยังไม่รวมค่าบริหารจัดการขยะตามสัญญา”นายธนะชัยกล่าว

ปัจจุบัน ACE มีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่ทำการ COD จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เรียบร้อยแล้ว 2 แห่ง คือ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น กำลังการผลิตติดตั้งรวม 6 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน เทศบาลเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 6  เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโมเดลต้นแบบที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับอย่างสูงจากชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสามารถกำจัดขยะชุมชนที่มีความชื้นได้สูงถึง 80% ด้วยวิธีการเผาตรง โดยไม่จำเป็นต้องมีการคัดแยกและแปรรูปขยะให้เป็นเชื้อเพลิงก่อน รวมทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม