ACE รุกหนักโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เตรียมขยายกำลังผลิต 1,000 MW ในปี 67

บมจ. แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ รุกหนักโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเตรียมเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ หวังขยายกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 67


นางสาวจิรฐา ทรงเมตตา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACEเปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 3 ประเภท เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าขยะชุมชน และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงยังมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ โดยใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยของเสียที่จะส่งผลกระทบกับชุมชน ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดต้นแบบของโลก ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ ผู้บริหารมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมานานกว่า 30 ปี รวมถึงมีประสบการณ์ในธุรกิจการเกษตรแบบครบวงจรกว่า 40 ปี จึงมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยนำเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหลือทิ้งหลากหลายชนิดมาใช้เป็นเชื้อเพลิง จากความเชี่ยวชาญดังกล่าว นำมาสู่การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพสูง

​ด้าน นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อว่า บริษัทมีอัตราการเติบโตสูงอย่างก้าวกระโดดทั้งกำลังการผลิต รายได้ และกำไรสุทธิ เนื่องจาก มีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันในฐานะที่เป็นผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยได้นำองค์ความรู้มาใช้พัฒนาสูตรส่วนผสมเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง

ตลอดจนการออกแบบและพัฒนาเครื่องจักร การจัดเก็บ Big Data เพื่อใช้วิเคราะห์และประมวลผลเพื่อพัฒนาการเดินเครื่องจักรและซ่อมบำรุงอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีทำเลที่ตั้งของโรงไฟฟ้าอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และอยู่ในชุมชนที่มีความรู้ความเข้าใจและยอมรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

ส่งผลให้การดำเนินกิจการของบริษัทฯ ได้รับการยอมรับและการสนับสนุนจากชุมชน มีความมั่นคงทางด้านแหล่งเชื้อเพลิง มีบุคลากรที่มีความรู้ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเดินเครื่องจักรและบริหารจัดการโรงไฟฟ้า จนทำให้โรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่ำ และมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งกำลังการผลิต รายได้ และผลตอบแทนกำไร โดยในปี 59 มีกำลังการผลิต 85 เมกะวัตต์ ในปี 60 เพิ่มขึ้นเป็น 209 เม็กกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 124 เม็กกะวัตต์ และในปี 61 เพิ่มขึ้นเป็น 210 เม็กกะวัตต์ คิดเป็น การเติบโตของกำลังการผลิตเฉลี่ยปีละ 57 %

สำหรับรายได้มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 59 มีรายได้ 2,161 ล้านบาท,ในปี 60 เพิ่มขึ้นเป็น 4,346 ล้านบาท และในปี 61 เพิ่มขึ้นเป็น 4,849 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 50 % ส่วนกำไรสุทธิ ก็มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยในปี 59 มีกำไรสุทธิ 135 ล้านบาท ปี 60 มีกำไรสุทธิ 334 ล้านบาท และปี 61 มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 547 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตของกำไรเฉลี่ยปีละ 101 %

​ทั้งนี้ บริษัทฯ มีสัญญาที่จะต้องสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีกมากกว่า 200 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 1-3 ปี ข้างหน้า บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาเป็นทุนจดทะเบียนในการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าตามสัญญาและเพื่อลดต้นทุนทางด้านการเงินด้วยการออกตราสารต่าง ๆ แทนการกู้เงิน ที่จะทำให้ต้นทุนการทางการเงินถูกลง เพิ่มศักยภาพในการทำกำไรของบริษัทฯให้เติบโตต่อไปในอนาคต

บริษัทฯ มีแผนงานสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดหลังเข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 1,818 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 16.56 ของหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ และมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งรวมเป็นกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567

จากปัจจุบันที่มีโรงไฟฟ้าเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 13 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 211.18 เมกะวัตต์ มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งสิ้น 166.5 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม เพิ่มขึ้นเป็น 411.47 เมกะวัตต์ ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

ส่วน นายธีรวุฒิ ทรงเมตตา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ACE มีศักยภาพและโอกาส จากการเปลี่ยนแปลงของโลก และแนวนโยบายของรัฐบาลไทย เนื่องจากแผนปฏิรูปประเทศที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ได้กำหนดไว้ว่า รัฐบาลจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียน บริหารจัดการขยะด้วยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า

ส่งเสริมธุรกิจสีเขียวให้นำผลิตผลทางการเกษตรมาใช้ในการผลิตพลังงาน ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ซึ่งรัฐบาลได้มีพันธสัญญาต่อนานาประเทศในสังคมโลก จึงมุ่งที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้พลังงานหมุนเวียนในอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นและลดการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานจากฟอสซิลลง โดยมีเป้าหมายในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอีกไม่น้อยกว่า 20,807 เมกะวัตต์ ภายใน 20 ปีข้างหน้า โดยในขั้นแรกนี้จะประกาศรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวภาพ จำนวน 4,120 เมกกะวัตต์ คาดว่าจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอโครงการระยะที่ 1 ในช่วง ก.พ. – ส.ค. 63

นอกจากนี้รัฐบาล ยังมีแผนชัดเจนที่จะเพิ่มการแข่งขันการจำหน่ายไฟฟ้าโดยเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าสามารถขายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้โดยตรงโดยอาศัยสายส่งของการไฟฟ้า จากมาตรการดังกล่าว ทำให้โรงไฟฟ้าของบริษัทฯ ในปัจจุบันสามารถขายไฟฟ้าจากกำลังการผลิตส่วนเกินโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ด้วยศักยภาพและโอกาสการเติบโตของ ACE ดังกล่าว จึงมั่นใจว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมของ ACE จะบรรลุเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ ก่อนปี 2567

ขณะที่ ​นายพรเมตต์ ทรงเมตตา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานปฏิบัติการ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะของ ACE ได้รับการยอมรับจากทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าเป็นหนึ่งในต้นแบบของโลก โดยโรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีศักยภาพสูง โดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ และปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายให้แก่ กฟภ. 8.0 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าน้ำพองสามารถใช้เชื้อเพลิงชีวมวลต้นทุนต่ำและมีความชื้นสูง ถึง 65% (มีปริมาณน้ำ 65 ส่วน และเนื้อชีวมวล 35 ส่วน) มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้ โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้าน้ำพองสามารถเดินเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าเต็มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายเดินเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 435 วัน เพื่อทำสถิติเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลของกลุ่ม ACE ที่เดินเครื่องจักรติดต่อกันเป็นระยะเวลานานที่สุดโดยไม่ต้องหยุดซ่อมบำรุง ​

​ส่วนโรงไฟฟ้า MSW ขอนแก่น (โรงไฟฟ้าขยะชุมชน) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ และปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายให้แก่ กฟภ. 4.5 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย สามารถรับขยะที่มีความชื้นสูงถึง 70% (มีปริมาณน้ำ 70 ส่วน และเชื้อเพลิงขยะ 20 ส่วน) เข้าสู่กระบวนการผลิตได้

​ขณะเดียวกันได้ออกแบบอาคารเป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชนแบบปิด จึงไม่สร้างมลภาวะทางกลิ่น ไม่มีฝุ่นละออง และมีระบบบำบัดน้ำเสียจากขยะด้วยระบบ Reverse Osmosis (RO) แล้วนำไปใช้ในขบวนการผลิตไฟฟ้าโดยไม่ปล่อยออกนอกโรงไฟฟ้าเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในละแวกใกล้เคียง

นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาระบบจัดเตรียมขยะเพื่อให้สามารถระเหยน้ำและความชื้นได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้โรงไฟฟ้าขยะของบริษัทฯ ได้รับหนังสือรับรองมาตรฐานสากลในมาตรฐานเรื่องสิ่งแวดล้อม ISO 14001, มาตรฐานเรื่องการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ISO 9001, และมาตรฐานความปลอดภัยและชีวอนามัยของพนักงาน OHSAS 18001

ที่มา: businesstoday