IPO ตบเท้าเข้าเทรดปลายปี ดูดเงินจากตลาดหุ้นระยะสั้น

ตลาดไอพีโอปลายปีคึกคัก 6 หุ้นใหม่เตรียมตบเท้าเข้าระดมทุน นำโดย บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) บมจ.คอปเปอร์ ไวร์ด (CPW) บมจ. แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) วางแผนเข้า SET ส่วนอีก 3 ราย บมจ.อินฟราเซท (INSET) บมจ.เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น (TPS)และ บมจ.แอพพลิแคด (APP) เข้า mai ด้านโบรกฯ คาดกลางเดือน ก.ย. เป็นต้นไป จะเริ่มมีแรงขายหุ้น ตุนเงินไว้รอซื้อไอพีโอ แต่หลังเข้าเทรดแล้วสภาพคล่องตลาดจะเพิ่มขึ้น หนุนบรรยากาศการลงทุนคึกคัก

แม้สถานการณ์ตลาดหุ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของปีจะยังคงผันผวน จากปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ ทั้งเรื่องสงครามการค้าจีน-สหรัฐ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ แต่บริษัทเอกชนในไทยหลายแห่ง ยังคงเดินหน้าตามแผน ที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ปลายปีนี้เท่านั้น แต่ยังมีต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย ได้รวบรวมบริษัทน้องใหม่ ที่คาดว่าจะเข้าระดมทุนได้ทันภายในปีนี้ ซึ่งก็เหลือเวลาอีกเกือบ 4 เดือน หรือเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายในไตรมาส 4 ของปี 2562

*** "แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้" (ACE) ขายไอพีโอ 1,818 ล้านหุ้น

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ทรินิตี้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการจำหน่ายและรับประกันจำหน่ายร่วม และนายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE เปิดเผยในงาน “เปิดวิชั่นเข้าในการเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า คาดนำหุ้นเข้าเทรด SET ภายในไตรมาส 4/62 กางแผนปี 67 มีกำลังผลิตไฟฟ้าแตะ 1,000 MW

คาด ACE จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในช่วงไตรมาส 4/62 โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกจำนวนไม่เกิน 1,818 ล้านหุ้น

ขณะนี้บริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟเข้าระบบแล้วจำนวน 13 โครงการ คิดเป็นขนาดกำลังการผลิต 211 เมกะวัตต์ (MW) และมีโครงการที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนาอีกประมาณ 20 โครงการ คิดเป็นขนาดกำลังการผลิตรวม 210 MW

ดังนั้นจะทำให้ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 421 MW บริษัทตั้งเป้าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในปี 67 ทั้งสิ้น 1,000 MW ทั้งนี้ จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนไปพัฒนาโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และชำระคืนหุ้นกู้วงเงิน 1,450 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 6.80% 

*** "คอปเปอร์ ไวร์ด" (CPW) ลุ้นเข้าเทรด SET ปีนี้ ไม่หวั่นภาวะผันผวน

นายปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอปเปอร์ ไวร์ด จำกัด (มหาชน) หรือ CPW และ นายวิรัช มรกตกาล รองกรรมการผู้จัดการ สายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยในงานแถลง "ความพร้อมระดมทุนใน SET" ระบุ คาดเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลายปีนี้ ไม่หวั่นแม้บรรยากาศการลงทุนผันผวน พร้อมตั้งเป้ารายได้ปีนี้โตเฉลี่ย 10-15%

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาแบบคำขอจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ซึ่งธุรกิจค้าปลีกด้านสินค้าไอทียังมีการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะการเข้าสู่ยุค 5G จะสามารถสร้างการเติบโตให้กับบริษัท

ทั้งนี้ CPW ได้ยื่นขออนุญาตเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 160 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 26.67% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และ ชำระแล้วทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 10-15% จากปีก่อนที่มีรายได้ 3,227.62 ล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 82.42 ล้านบาท และสัดส่วนรายได้มาจากดิจิทัลไลฟ์สไตล์ 43.37% กลุ่มโทรศัพท์มือถือ 26.84% กลุ่มคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต 25.97% และ กลุ่มบริการซ่อมแซมและรับประกัน 2.73%

เงินที่ได้จากการ IPO จะนำไปขยายสาขา 6 สาขา และ ปรับปรุงสาขา 5 สาขา โดยใช้เงิน 5-10 ล้านบาทต่อสาขา จากปัจจุบันมี 40 สาขา และ นำเงินไปใช้หนี้ โดยทำให้หนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลง จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.47 เท่า

*** "แอสเสท เวิรด์ คอร์ป" (AWC) จ่อเข้าเทรด SET ปีนี้

บมจ. แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) เป็นอีกบริษัทขนาดใหญ่ ที่เตรียมจะเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าอาจไปกระทบกับหุ้นขนาดใหญ่ที่รั้งท้ายใน SET50 อาจจะต้องตกชั้นไป เพราะ AWS ขึ้นมาแทน

บล.ทิสโก้ ได้ออกบทวิเคราะห์ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้น KKP ปรับลดลงมาก เพราะตลาดกังวลการหลุด SET50 หากหุ้น AWCเข้าจดทะเบียน (คาดมีมูลค่าตลาด 2 แสนล้านบาท) ทำให้จะต้องมีหุ้น 1 ตัวหลุดจาก SET50 และด้วยขนาดของ KKP ที่เป็นลำดับ 50 ทำให้ตลาดและกองทุนที่ลงทุนอิงดัชนี SET50 ต้องขายหุ้นตัวนี้ออกจากพอร์ตแต่เป็นการกังวลมากเกินไปเนื่องจาก ยังมีโอกาสที่จะมีตัวอื่นหลุดแทน ก่อนที่ AWCจะเข้าซื้อขายในเดือน ต.ค.

AWC เป็นอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำครบวงจรที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดใน Recurring Assets โดยบริษัทมีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 6,957 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท หรือคิดเป็นประมาณ 22.47% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ออกและจำหน่ายแล้วของบริษัท และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวนไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ หรือไม่เกิน 1,043 ล้านหุ้น รวมเป็นจำนวนไม่เกิน 8,000 ล้านหุ้น

สำหรับวัตถุประสงค์ในการใช้เงิน คือ 1) เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในการเข้าซื้อกิจการที่เป็นเจ้าของ Asset Group 3 2) ใช้ในการลงทุน พัฒนาและ/หรือปรับปรุงทรัพย์สินของบริษัทและ/หรือบริษัทย่อย, 3) เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมให้กับธนาคารและ/หรือ ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยบริษัทและ/หรือบริษัทย่อย และ 4) เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

*** ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง "อินฟราเซท" (INSET) ขายไอพีโอ 146 ล้านหุ้น

นายเล็ก สิขรวิทย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัท อินฟราเซท จำกัด (มหาชน) หรือ INSET เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบไฟลิ่งของ INSET เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยบริษัทมีแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 146 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้(พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท หรือคิดเป็น 26.07% ของจํานวนหุ้นที่ออกและเรียกชําระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้

ปัจจุบันบริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 280 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 560 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท และมีทุนที่ชำระแล้ว 207 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเสนอขายหุ้นไอพีโอและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในไตรมาส 4 ปีนี้

นายศักดิ์บวร พุกกะณะสุต กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินฟราเซท จำกัด (มหาชน) หรือ INSET กล่าวว่า บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะเสนอขายหุ้นไอพีโอเพื่อเข้าระดมทุนในตลาด mai เพื่อจะนำเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย โครงการก่อสร้างโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 และโครงการวางระบบเครือข่ายและอุปกรณ์ WiFi ของโครงการ Google Station รวมทั้งเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

ปัจจุบันสามารถแบ่งการให้บริการของบริษัทฯ เป็น 3 ธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจก่อสร้างศูนย์ข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ 2.ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายโทรคมนาคม และ 3. ธุรกิจงานซ่อมบำรุงและบริการ

*** "เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น" (TPS) ยื่นไฟลิ่งขายไอพีโอ 80 ล้านหุ้น

นางสาวพัชพร สรรคบุรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น จำกัด (มหาชน) (TPS) ผู้ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยว่า ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวน (Filing) ของ TPS ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 80 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 28.57 % ของจำนวนหุ้นสามัญที่จดทะเบียนแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ และคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงปลายปี 2562 นี้

วัตถุประสงค์การระดมทุนในครั้งนี้ TPS เตรียมนำเงินไปใช้ในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเครือข่าย (Network Operation Center ) การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อแสดงระบบรักษาความปลอดภัยและและระบบสื่อสารครบวงจร (DEMO Data Center,Security&Collaboration) ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน จากการลงทุนซื้อที่ดินและก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

*** "แอพพลิแคด" (APP) คาดเข้าเทรด mai ภายในปีนี้

บริษัท แอพพลิแคด จำกัด (มหาชน) หรือ APP ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชน กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย จำนวน 80 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 28.57 ของจํานวนหุ้นที่ออกและเรียกชําระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 72 ล้านหุ้น เสนอขายต่อประชาชน และจำนวน 8 ล้านหุ้น เสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai คาดเข้าซื้อขายภายในปีนี้

โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

บริษัท แอพพลิแคด จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2537 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ล้านบาท ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายโซลูชั่นด้านการออกแบบ และเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติอย่างครบวงจร ตลอดจนการให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

บริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งนี้หลังหักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ เพื่อลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานและรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต

***โบรกฯ คาด IPO ขนาดใหญ่-เพิ่มทุน RO ดูดเงินตลาดหุ้นตั้งแต่กลาง ก.ย.นี้

บล.บัวหลวง ระบุ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ย.เป็นต้นไป คาดว่าแรงขายหุ้น โดยเฉพาะหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันกับหุ้น IPO ที่กำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และ หุ้น RO ที่กำลังจ่ายเงินเพิ่มทุน มีโอกาสจะถูกลดสัดส่วนการลงทุนลง เพื่อเตรียมเงินไว้สำหรับเพิ่มทุน และจองหุ้น IPO (ซึ่งต้องเผื่อเงินไว้ เวลาที่ Oversubscribed) หุ้นกลุ่มค้าปลีก อสังหาฯ โรงแรม โรงไฟฟ้า ที่ราคาลอยอยู่ด้านบน

แนะ ไม่ควรไล่ราคาซื้อหุ้น (รอให้ผ่านช่วงจองหุ้น กับ จ่ายเงินไปก่อน ค่อยหาจังหวะในการเข้าสะสมรอบใหม่)

แต่หลังจาก “หุ้นเพิ่มทุน / หุ้น IPO” เข้าซื้อขาย เราคาดว่า สภาพคล่องจะเพิ่มขึ้นและหนุนบรรยากาศในการลงทุนหุ้นไทยอีกครั้ง

บล.ยูโอบี เคย์เฮียน กล่าวว่า การเข้าระดมทุนของหุ้นใหม่ๆ จะบังคับให้ตลาดเกิดแรงขายเพื่อหมุนหุ้น ในครึ่งปีหลังจะมีบริษัทจำนวนมากเข้าระดมทุน ได้แก่ แอสเส็ทเวิลด์ (AWC), เซ็นทรัล รีเทลล์ (CRC), บริหารสินทรัพย์กรุงเทพ (BAM) นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มทุนของ GPSC ซึ่งเม็ดเงินระดมทุนในช่วงครึ่งหลังของปีรวมกันมีโอกาสสูงเกินกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งมีโอกาสทำให้นักลงทุนต้องต้องจัดสรรเม็ดเงินลงทุนใหม่ โดยการลดน้ำหนักหุ้นเดิมและจองซื้อหุ้นที่จะเข้าใหม่

ที่มา: https://www.efinancethai.com/HotNews/hotnewsmain.aspx?release=y&name=h_090919h