ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟล์ลิ่ง #บมจ. แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ เตรียมขาย IPO ไม่เกิน 1,818 ล้านหุ้น

ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟล์ลิ่ง #บมจ. แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ เตรียมขาย IPO ไม่เกิน 1,818 ล้านหุ้น โชว์ศักยภาพเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตติดตั้งรวมกว่า 1,000 MW ภายในปี 67

บมจ. แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ ("บริษัทฯ" หรือ ACE) เดินหน้าเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เตรียมขาย IPO 1,818 ล้านหุ้น ชูวิสัยทัศน์เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดต้นแบบของโลกที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและผู้ถือหุ้น พร้อมโชว์ศักยภาพเป็นผู้นำการผลิตไฟฟ้าชีวมวลของประเทศไทย โดยปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 13 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 211.18 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 411.47 เมกะวัตต์ พร้อมตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งรวมเป็นกว่า 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2567

นางสาวจิรฐา ทรงเมตตา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) ("บริษัทฯ" หรือ ACE) บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแห่งประเทศไทย (The Renewable Energy Company of Thailand) และเป็นหนึ่งในผู้นำด้านพลังงานสะอาด (The Clean Energy Leader) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยที่มีศักยภาพการเติบโตสูง โดยปัจจุบัน ACE ถือเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตไฟฟ้าชีวมวลส่งขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังมีความสามารถบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าขยะชุมชนและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดย นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้มีประสิทธิภาพสูง

ทั้งนี้ บริษัทฯ เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินและขีดความสามารถการขยายธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าในไทยและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งรวมเป็นกว่า 1,000 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2567 และกำหนดวิสัยทัศน์เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดต้นแบบของโลกที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และผู้ถือหุ้น

นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มบริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญอย่างมืออาชีพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล และขยะชุมชน และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นพอร์ตธุรกิจหลักของบริษัทฯ โดยปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 13 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 211.18 เมกะวัตต์ มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งสิ้น 166.5 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย

1.โรงไฟฟ้าชีวมวล (VSPP-Biomass) 9 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 89.1 เมกะวัตต์จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟภ. ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) อายุสัญญา 15-16 ปี (เมื่อสิ้นสุดสัญญาโครงการของบริษัทฯ อาจได้รับพิจารณาปรับเพิ่มอายุสัญญาเป็น 20 ปี โดยการพิจารณาปรับเพิ่มอายุนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)

2.โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ (SPP-Cogeneration) 1 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 114.35 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าแก่ กฟผ. ตามสัญญา PPA อายุสัญญา 25 ปี 3.โรงไฟฟ้าขยะชุมชน (VSPP-MSW) 1 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 6.00 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟภ. ตามสัญญา PPA อายุสัญญา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาและต่อเนื่องครั้งละ 5 ปีโดยอัตโนมัติ และ 4.โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) 2 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1.73 เมกะวัตต์

ACE มีแผนที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ บริษัทฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างพัฒนา จำนวน 9 โครงการ และโครงการที่อยู่ระหว่างการขอคืนสัญญาขายไฟฟ้า จำนวน 10 โครงการ รวม 19 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 200.29 เมกะวัตต์ ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา PPA กับ กฟผ. และ กฟภ. รวม 164.00 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีโครงการที่บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมในการเข้าซื้อหุ้น อีก 1 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 9.90 เมกะวัตต์ ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา PPA กับ กฟภ. รวม 8.00 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมด 20 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 210.19 เมกะวัตต์ ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา PPA กับ กฟผ. และ กฟภ. รวม 168.71 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ มีกำลังการผลิตติดตั้ง ประกอบด้วย

1) โครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างพัฒนาจำนวน 9 โครงการ ได้แก่

1.1 โครงการโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ SPP Hybrid Firm พ.ศ.2560 (โครงการโรงไฟฟ้า SPP Hybrid) ที่ใช้พลังงานชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงหลัก 4 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 93 เมกะวัตต์

1.2 โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่กลุ่มบริษัทฯ ได้รับคัดเลือกให้ทำสัญญาจ้างกำจัดขยะจากเทศบาลเมืองกระบี่แล้ว โดยอยู่ระหว่างยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) 1 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 5 เมกะวัตต์

1.3 โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) 2 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1.83 เมกะวัตต์

1.4 โครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) 2 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1.46 เมกะวัตต์

2) โครงการที่อยู่ระหว่างการขอคืนสัญญาขายไฟฟ้าจำนวน 10 โครงการ ได้แก่

2.1 โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 10 โครงการ โดยมีโครงการที่ได้รับการตอบตกลงเพื่อคืนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) (จำนวน 1 โครงการ) โครงการที่ได้รับคำชี้ขาดตกลงคืนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากอนุญาโตตุลาการแล้วและอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดของสัญญา (จำนวน 8 โครงการ) และที่อยู่ระหว่างขอคืนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากศาลปกครองกลาง (จำนวน 1 โครงการ) กำลังการผลิตติดตั้งรวม 99.00 เมกะวัตต์ และ

3) โครงการที่บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมในการเข้าซื้อหุ้น อีก 1 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 9.90 เมกะวัตต์

ผลประกอบการของ ACE มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง โดยภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2559 – 2561 มีรายได้รวม 2,161 ล้านบาท 4,346 ล้านบาท และ 4,849 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ประมาณ 50% และมีกำไรสุทธิ 134 ล้านบาท 334 ล้านบาท และ 547 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ประมาณ 102% ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2562 มีรายได้รวม 2,555 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 342 ล้านบาท รวมถึงมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย (IBD/Equity) 1.2 เท่า

ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์ผู้ให้สินเชื่อเป็นอย่างดี มีการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยผิดนัดชำระมาก่อน ทำให้ได้รับการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินลดลง ซึ่งจะมีผลเป็นบวกกับผลประกอบการของบริษัทต่อไป นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเชื่อมั่นว่ากลุ่มธนาคารที่ให้การสนับสนุนทางด้านการเงินของโครงการที่ได้ประสบความสำเร็จไปก่อนหน้านี้ เล็งเห็นถึงศักยภาพของกลุ่มบริษัทฯ และความสามารถในการทำกำไรและประวัติการติดต่อที่ดีกับธนาคารมาก่อนจะยังให้การสนับสนุนต่อไปจนครบทุกโครงการตามเป้าหมายที่กลุ่มบริษัทฯ ได้วางแผนไว้

บมจ. แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ เป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environment Social Governance หรือ ESG Company) ที่มีรายได้สม่ำเสมอและไม่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั้งในประเทศไทยและเศรษฐกิจโลก โดย ดร. วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า บมจ. แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศไทย จะเป็นทางเลือกที่ดีแก่ผู้ลงทุนท่ามกลางสถานะทางเศรษฐกิจของโลกที่มีความผันผวน และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลงจากการคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ FED จะทำให้หุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีผลตอบแทนที่มั่นคง จะเป็นกลุ่มที่น่าสนใจในสถานการณ์ปัจจุบัน โดย ACE มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีความเสี่ยงต่ำและมีความมั่นคงสูง บริษัทอยู่ในช่วงการขยายการผลิต โดยมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตให้ถึงระดับ 1,000 MW ในอนาคต ปี 2567 นอกจากนี้ พลังงานสะอาดก็เป็น Mega Trend ของโลกด้วย อีกทั้งบริษัท ยังมีปณิธานและความมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยมที่จะดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นการใช้นโยบายส่งเสริมสังคม สิ่งแวดล้อม และใช้หลักการธรรมาภิบาลที่ดีในการกำกับดูแลกิจการตามแนวทาง ESG อย่างเคร่งคัด

นางสาววีณา เลิศนิมิตร กรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะ Sole Bookrunner และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า หลังจากที่ บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ Filing) แก่สำนักงาน ก.ล.ต. บริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นต่อประชาชนจากสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และล่าสุดสำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งแบบไฟลิ่งของบริษัทฯ เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2562 โดย ACE มีความโดเด่นที่น่าสนใจต่อนักลงทุนดังนี้ 1) เป็นผู้นำโรงไฟฟ้าสะอาดต้นแบบของประเทศไทย 2) รายได้และกระแสเงินสดมีเสถียรภาพสูง 3) อัตรากำไรที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากความสามารถในการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงาน 4) แผนโครงการในอนาคตและความเชี่ยวชาญของบริษัทสนับสนุนแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง 5) ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่กำลังขยายตัว และ 6) ศักยภาพในการเติบโตอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น รายได้จากกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยบริษัทจะได้รับผลดีจากความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศ (PDP : Power Development Plan) ที่ให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากโรงไฟฟ้าของกลุ่ม ACE เป็นสัญญาขายไฟให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแบบ Feed-in Tariff (FiT) จึงมีความแน่นอนและมั่นคงในเรื่องของราคารับซื้อกระแสไฟฟ้าตลอดระยะเวลาตามสัญญาและเป็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าทั้งหมดเต็มจำนวนตามสัญญา ดังนั้น บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จึงมีความเสี่ยงต่ำในเรื่องของปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกับความผันผวนของราคาค่ากระแสไฟฟ้าของประเทศไทยและปริมาณความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าของประเทศไทย นอกจากนี้ ACE ยังมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันทั้งในประเทศและในระดับสากลจากการนำระบบ Auto Load Control (ALC) มาใช้ควบคุมการผลิตไฟฟ้าแบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินเครื่องจักร ประหยัดเชื้อเพลิงและลดการสูญเสียที่ไม่เกิดประโยชน์ มีการปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตภายในโรงไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ การใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน ทำให้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการของโรงไฟฟ้า ทั้งยังสร้างอาชีพ สร้างงาน และ สร้างรายได้ อย่างมั่นคงและยั่งยืนให้กับประชาชนในชุมชน จนได้ชื่อว่าเป็นโรงไฟฟ้าของชุมชน ที่ดำเนินการโดยชุมชน และเพื่อประโยชน์ของชุมชน ทั้งนี้ บมจ. แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จะนำเงินจากการระดมทุนครั้งนี้ไปใช้เป็นเงินทุน(Equity) สำหรับลงทุน ในโครงการของกลุ่มบริษัทฯ ที่อยู่ระหว่างพัฒนา โครงการที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนา และโครงการโรงไฟฟ้าที่บริษัทฯ อาจได้มาเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และ/หรือ ไถ่ถอนหุ้นกู้ นอกจากนี้ ยังอาจใช้เป็นเงินทุนสำหรับลงทุนในโครงการอื่น ๆ ของบริษัทฯ อาทิ การลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรโรงไฟฟ้า เป็นต้น ตลอดจนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ทั้งนี้ บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ มีทุนจดทะเบียน 5,487,999,980 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญจำนวน 10,975,999,960 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 4,578,999,980 บาท หรือคิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 9,157,999,960 หุ้น และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 1,818,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 16.56 ของหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้

ที่มา: http://www.newswit.com/nrg/2019-09-09/5550e13035dd3e686fc046dbf1e3be20/